ในกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นบริสุทธิ์เชิงพาณิชย์ ปัญหาของกากมะพร้าวเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมีเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งเดียวมีกากมะพร้าวขูดขาวจากการบีบน้ำมันเหลือทิ้ง 80,000 - 90,000 กิโลกรัม/ปี และจากการสำรวจโรงงานแปรรูปน้ำมันมะพร้าวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเขตจังหวัดใกล้เคียง จากปริมาณผลผลิตที่ส่งเข้าโรงงานแปรรูปกะทิและน้ำมันมะพร้าว พบว่าทำให้เกิดกากมะพร้าว ไม่น้อยกว่า 20,000 ตัน/ปี นับได้ว่าเป็นการสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในการกำจัดทำลายกากมะพร้าวจากอุตสาหกรรมอย่างสูง จากข้อมูลดังกล่าว นางวสาวจิรัชญา บริบัติ และนายกมล ทองชุม นักศึกษาสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงร่วมกันคิดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกากมะพร้าวขูดเหลือทิ้ง นำมาพัฒนาสูตรแป้งปั้นดอกไม้ประดิษฐ์จากกากมะพร้าวขูด สู่การนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ทดแทนการใช้แป้งปั้นสำเร็จรูปซึ่งมีราคาสูง สำหรับงานปั้นประดิษฐ์ของชำร่วย ผลิตภัณฑ์ของจิ๋ว ดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น โดยมี อาจารย์ปิยะธิดา สีหะวัฒนกุล เป็นที่ปรึกษาโครงการ
นายกมล ทองชุม กล่าวว่า มีความสนใจในการนำกากมะพร้าวขูดเหลือทิ้ง โดยนำมาทำการอบแห้ง แล้วบดให้เป็นผงละเอียดเพื่อใช้เป็นส่วนผสมหลักของเนื้อแป้ง และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในผลิตภัณฑ์แป้งปั้นดอกไม้ประดิษฐ์ โดยการวิจัยได้ทำการศึกษา 2 ขั้นตอนคือ ศึกษาสูตรแป้งปั้นที่เหมาะสมจากกากมะพร้าวขูดสำหรับการผลิตดินปั้นดอกไม้ประดิษฐ์ และการศึกษาความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ดอกไม้ประดิษฐ์จากแป้งปั้นในเชิงพาณิชย์ โดยการทดลองได้วิเคราะห์ปริมาณกากมะพร้าวที่ทดแทนแป้งข้าวเหนียว 4 ระดับ คือกากมะพร้าวร้อยละ 11.50, 23.00, 34.50 และ 46.00 จากนั้นทำการวิเคราะห์คุณภาพได้แก่ ลักษณะปรากฏ สมบัติทางเคมี ทางกายภาพ และความเหมาะสมของลักษณะดินปั้นกากมะพร้าว ผลการวิจัยพบว่าดินปั้นกากมะพร้าวสูตรที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินปั้นกากมะพร้าวสูตรที่ 2 มีปริมาณกากมะพร้าวร้อยละ 23.00 โดยเนื้อแป้งมีความเรียบเนียน ยืดหยุ่น สามารถขึ้นรูปและมีความพลิ้วของกลีบดอกไม้แป้งปั้น มีความคงตัวของชิ้นงานได้ดี ไม่แตกร้าวแห้งกระด้าง โดยผลการทดสอบทางเคมี ค่าความชื้นร้อยละ 40.23 ผลการทดสอบทางกายภาพ ค่าความยืดหยุ่นเท่ากับ 7.10 มิลลิเมตร ค่าความสว่าง (L*) เท่ากับ 64.12 ในส่วนของค่า (a*) และ (b*) มีค่าไปในทิศทางสีเขียว และสีน้ำเงิน
ด้านนางสาวจิรัชญา บริบัติ กล่าวว่า เมื่อได้สูตรดินปั้นกากมะพร้าวที่เหมาะสมที่สุด นำดินปั้นกากมะพร้าว มาปั้นเป็นผลิตภัณฑ์ดอกไม้ประดิษฐ์ สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย ดอกรักเร่หรือดอกดาเรีย ดอกกุหลาบอังกฤษ ดอกคอสมอส ดอกแคทรียา ดอกเดฟฟอดิว ดอกลานันคูลัส ดอกอ๊อกซี่ ดอกทิวลิป โดยเปรียบเทียบราคาของดินปั้นสำเร็จรูป กับแป้งปั้นจากกากมะพร้าวขูด ซึ่งจากการเปรียบเทียบพบว่าสูตรแป้งปั้นที่ใช้ในการปั้นดอกไม้ทั้งหมดข้างต้น แป้งปั้นน้ำหนัก 250 กรัม ราคาอยู่ที่ 65 บาท ส่วนดินสำเร็จรูป น้ำหนัก 250 กรัม จะมีราคา 270 บาท นับได้ว่าดินจากกากมะพร้าวขูดมีราคาถูกกว่าหลายเท่าตัวในการนำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ความพึงพอใจที่มีต่อการพัฒนาสูตรแป้งปั้นดอกไม้ประดิษฐ์ ในการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จากการสอบถามกลุ่มสำรวจ 100 คน ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่อการพัฒนาสูตรแป้งปั้นดอกไม้ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์ ได้รับความพึงพอใจมากที่สุด คือ ดอกไม้แป้งปั้นประดิษฐ์มีความประณีตสวยงาม 4.76 % ผลิตภัณฑ์มีความคิดสร้างสรรค์ 4.80 % ส่วนความพึงพอใจด้านวัสดุที่นำมาใช้ คือ วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.86% วัสดุมีความน่าสนใจ 4.77 และกากมะพร้าวขูดสามารถหาได้ตามท้องตลาด 4.75 % ด้านประโยชน์ใช้สอย ได้รับความพึงพอใจมากที่สุดคือ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กากมะพร้าวขูดเหลือทิ้ง 4.85 % และเป็นการส่งเสริมการใช้ในงานคหกรรมศาสตร์ 4.80 % และสุดท้ายด้านสถานที่จัดจำหน่าย ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ ในระดับ 4.80 % รองลงมาคือร้านจำหน่ายงานประดิษฐ์แป้งปั้น ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และจัดให้เป็น OTOP ประจำจังหวัดต่อไป เนื่องจากสามารถนำกากมะพร้าวขูดมาทดแทนแป้งปั้นสำเร็จรูปในงานคหกรรมศาสตร์ได้หลากหลายกลุ่มสินค้า ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนที่สนใจพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเพิ่มเติมได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านงานประดิษฐ์ ให้ข้อเสนอแนะผู้วิจัยศึกษาเรื่องอายุการเก็บรักษาแป้งปั้นกากมะพร้าวขูด และศึกษาการลดกลิ่นของกากมะพร้าวขูดเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาแป้งปั้นกากมะพร้าวขูดในงานประดิษฐ์ที่ดียิ่งขึ้นไป ซึ่งทางกลุ่มนักศึกษาจะนำข้อเสนอแนะไปพัฒนาต่อ และจะนำแป้งปั้นงานประดิษฐ์ไปต่อยอดในงาน นาฏศิลป์ อาทิ เครื่องประดับศิราภาณ์ รัดเกี้ยวยอด ชฎา ทับทรวง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แป้งปั้นยิ่งขี้นไป ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 098 442 6493 หรือคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลพระนคร โทรศัพท์ 02 665 3888 ต่อ 8285
พุทธชาติ/ข่าว