ปัจจุบันนักศึกษาไทยส่วนใหญ่มีระดับความสามารถทางภาษาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะทักษะด้านการฟังและการพูด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ผศ.ภันรัชสา จารุจินดา กลุ่มวิชาภาษาต่างประเทศ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงพัฒนา “เว็บไซต์ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร” สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง เพื่อใช้เป็นแหล่งในการศึกษาและฝึกฝนทักษะด้านการฟังและการพูดนอกเวลาเรียน โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ และการเข้าใช้งาน เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกทั้งยังสอบรับกับการศึกษาในยุค “Thailand 4.0”
ผศ.ภันรัชสา จารุจินดา กล่าวว่า วิชาภาษาอังกฤษจัดอยู่ในประเภทวิชาทักษะ (Skill Subjects) นักศึกษาต้องได้รับการฝึกฝนทักษะอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลาที่เหมาะสม จึงจะทำให้เกิดทักษะและสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง ดังนั้นการสอนในห้องเรียนในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่เพียงพอที่จะทำให้นักศึกษาเกิดทักษะและนำความรู้ไปใช้ได้อย่างแท้จริง จึงพัฒนาเว็บไซต์ http://english.rmutp.ac.th เพื่อแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ ทั้งนี้เว็บไซต์ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารผู้เรียนสามารถเรียนภาษาเพิ่มเติมบนโลกออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บทเรียนออนไลน์ไม่ขึ้นตรงกับบริการเว็บโฮสติ้ง (Web Hosting) ดังนั้นขณะที่เรียนจึงไม่มีป๊อปอัพแบนเนอร์และหน้าโฆษณามาขัดจังหวะ เนื้อหาในเว็บไซต์ได้รับการออกแบบมาสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะทางภาษาในทางปฏิบัติ เป็นหลักสูตรระดับก่อนระดับกลางเน้นการฟังและการพูด นอกจากนี้บทเรียนยังเป็นมัลติมีเดียแบบโต้ตอบและสื่อบันทึกเสียง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียน รวมถึงมีบททดสอบก่อนและหลังเพื่อช่วยตรวจสอบทักษะของผู้เรียนได้อีกด้วย
ทั้งนี้เพื่อศึกษาความพึงพอใจและปัจจัยเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษาที่เข้าใช้เว็บไซต์ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร จึงได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักศึกษาระดับปริญญาตรี ภาคปกติ ชั้นปีที่ 2 ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง จำนวน 450 คน เพื่อทำการประเมิน 3 ด้าน ได้แก่ คุณภาพเว็บไซต์ด้านเทคโนโลยีการศึกษา ,คุณภาพเว็บไซต์ด้านเนื้อหาภาษาอังกฤษ และความพึงพอใจและปัจจัยเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผลการประเมินพบว่า คุณภาพของเว็บไซต์ด้านเทคโนโลยีการศึกษาอยู่ในระดับ ดีมาก (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.77) ,คุณภาพของเว็บไซต์ด้านเนื้อหาภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีมาก (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.78) และความพึงพอใจและปัจจัยเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองอยู่ในระดับพึงพอใจมาก (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.47) งานวิจัยชิ้นนี้จึงสามารถรองรับการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อใช้เป็นแหล่งฝึกฝนทักษะ โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งตอบสนองการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง