จากข้อมูลศูนย์คอลเซ็นเตอร์ให้บริการรับเรื่องร้องเรียนและสอบถามเส้นทางรถเมล์ 1348 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า จากการเก็บสถิติทรัพย์สินมีค่าของผู้โดยสารที่ทำหล่นหาย หรือลืมไว้บนรถโดยสาร ขสมก. เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละประมาณ 68-125 ชิ้น โดยทรัพย์สินของผู้โดยสารที่ทำหล่นไว้ หรือหาย จำนวนมากที่สุด คือ กระเป๋าสตางค์ ตามมาด้วย โทรศัพท์มือถือ ถุงกระเป๋าเสื้อผ้า กระเป๋าหนังสือเรียน และอุปกรณ์กีฬา สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับกระเป๋าสตางค์ที่ผู้โดยสาร ทำหล่นหรือสูญหายบนรถโดยสาร ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มมิจฉาชีพที่ลักขโมยไป และเมื่อได้เงินที่อยู่ในกระเป๋าไปแล้ว ก็จะทิ้งกระเป๋าสตางค์ไว้ โดยซุกไว้ตามที่นั่ง จากเหตุการณ์ข้างต้นต่างสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนผู้ประสบเหตุ เพราะอาจส่งผลเสียทั้งเงิน ของมีค่า รวมไปถึงข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ในบัตร
จากปัญหานี้จึงทำให้ นายทอง ม่วงใหญ่ นายปรัชญา โสมาบุตร นายณภัทร เตียวเจริญ และนายคณิศร หอมกลิ่น นักศึกษาช่างไฟฟ้ากำลัง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกันประดิษฐ์ อุปกรณ์ติดตามตัวแบบ GPS ขนาดเล็ก (EWP : ENERGY WALLET PLACE) สำหรับประยุกต์ติดตั้งในกระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ หรือทรัพย์สินมีค่าต่าง ๆ เพื่อป้องกันการสูญหาย รวมถึงติดตามบุคคล เพื่อความสะดวกในชีวิตประจำวัน ลดปัญหาการสูญหายหรือการโจรกรรม และช่วยป้องกันการสูญเสียต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในทันท่วงที โดยมี ดร.พสิษฐ์ สุวรรณภิงคาร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ
นายทอง ม่วงใหญ่ กล่าวว่า กระเป๋าสตางค์ เป็นสิ่งที่ผู้คนทำหายบ่อยที่สุดอันดับต้น ๆ ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลการแจ้งของสูญหายในศูนย์พระนครเหนือ ราชมงคลพระนคร ภายในระยะเวลา 5 เดือน พบจำนวนถึง 2,300 ครั้ง แต่ผู้เสียหายได้รับสิ่งของคืนเฉลี่ยเพียง 140 ชิ้น หรือคิดเป็น 6 % ของการแจ้งสูญหาย จากปัญหาข้างต้นจึงคิดค้นอุปกรณ์ติดตามตัวขนาดเล็ก โดยสามารถช่วยตามหาสิ่งของที่สูญหาย หรือถูกขโมยได้ โดยอุปกรณ์มีส่วนประกอบการทำงาน 5 ส่วน ได้แก่ 1. GPS MODUL (สำหรับตามหาสิ่งของ) 2. ซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ (สำหรับระบุพิกัดสิ่งของ) 3. ลำโพง (สำหรับส่งเสียงแจ้งเตือนเป้าหมาย) 4. เมมโมรี่การ์ด (สำหรับบันทึกการเดินทางของสิ่งของ) 5. แบตเตอรี่ (สำหรับสำรองไฟฉุกเฉิน)
ด้าน ดร.พสิษฐ์ สุวรรณภิงคาร อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ระบบ GPS ช่วยหาพิกัดได้แบบทุกที่ทุกเวลา (Real-Time) โดยอุปกรณ์ถูกออกแบบมาขนาดเล็ก สามารถซ่อน และป้องกันการทำลายได้ ดังนั้นจึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งของได้หลากหลาย อาทิ รถจักรยานยนต์ กุญแจรถ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ สัตว์เลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ยังสามารถประยุกต์เป็นแบตเตอรี่ฉุกเฉินสำรอง (Power Bank) สำหรับชาร์จไฟให้โทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย ซึ่งสะดวกต่อการใช้งาน ไม่ต้องพกพาอุปกรณ์หลายชิ้น ทั้งนี้คุณสมบัติการใช้งานอุปกรณ์แบตเตอรี่ 5,000 mAH ใช้เวลาในการชาร์จไฟฟ้าเพียง 150 นาที (2.30 ชั่วโมง) สามารถอยู่ในโหมดสแตนบาย (Stand By) ในระบบ GPS ได้นานถึง 3 วัน ส่วนต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ที่ 3,000 บาท แต่หากผลิตในจำนวนมากก็จะทำให้ต้นทุนถูกลง ด้านอายุการใช้งานอุปกรณ์แบตเตอรี่อยู่ที่ประมาณ 3 ปี ทั้งนี้หากคำนวณต้นทุนการผลิตต่ออายุการใช้งานจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงวันละประมาณ 3-4 บาท เท่านั้น อีกทั้งขณะนี้กำลังพัฒนากล้องขนาดเล็กที่ฝังตัวอยู่ในกระเป๋า สำหรับบันทึกภาพคนร้าย โดยจะทำการส่งรูปแจ้งเตือนผ่านทางอีเมล และยังจะพัฒนาแบตเตอรี่หากหมดอายุการใช้งาน ให้สามารถเปลี่ยนได้ง่ายโดยผู้ใช้อีกด้วย อย่างไรก็ตามผลงานชิ้นนี้เคยเข้าร่วมประกวดแข่งขันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม 2563 ในงานประชุมวิชาการและวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หากสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ดร.พสิษฐ์ สุวรรณภิงคาร โทรศัพท์ 080 044 1915