Research

สถาปัตย์ฯ ราชมงคลพระนคร เจ๋ง! คิดค้นสายรัดข้อมือเตือนภัย ช่วยผู้สูงอายุยามฉุกเฉิน

สายรัดข้อมือเตือนภัย

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ปัญหาจากการเสื่อมถอยของร่างกาย รวมทั้งการมีโรคเรื้อรังต่างๆ จึงเป็นวัยที่ต้องการการดูแลเฉพาะแตกต่างจากวัยอื่นๆ เนื่องด้วยผู้สูงอายุไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก จากการคาดประมาณของสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวนผู้สูงอายุในช่วงปี 2553-2583 จะมีจำนวนถึง 9.9 ล้านคน คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเมืองไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 7 ปีข้างหน้า และจากข้อมูลเบื้องต้นสถิติการเกิดอุบัติเหตุ การเสียชีวิตจากการพลัดตก หกล้มในครัวเรือนของผู้สูงอายุก็มีสูงตามมาเช่นกัน โดยมีอัตราถึง 1600 คน/ปี ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงเมื่อนำไปเทียบกับการบาดเจ็บและเสียชีวิตกับประเภทอื่น โดยเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดกับผู้สูงอายุแล้วมักจะได้รับการช่วยเหลือไม่ทันเวลา โดยสาเหตุเป็นเพราะผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพัง ไม่มีบุตรหลานดูแลใกล้ชิด

ด้วยเหตุนี้ นายจักรกริช  สาธิตศานนท์ นักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงมีแนวคิดศึกษาพัฒนาและประดิษฐ์สายรัดข้อมือฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและศักยภาพในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น โดยมี ดร.กิ่งกาญจน์ พิจักขณา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

สายรัดข้อมือเตือนภัย

นายจักรกริช กล่าวว่า ก่อนเริ่มประดิษฐ์ชิ้นงานได้ศึกษาวิจัยโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลทำแบบสอบถามกับผู้สูงอายุในชุมชน ได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จำนวน  25 คน และกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท  จำนวน  25  คน เพื่อศึกษาปัญหาพฤติกรรม การใช้ชีวิตประจำวัน โดยเลือกสอบถามแบบคละไปทั้งสามระดับอายุของผู้สูงอายุ คือผู้สูงอายุช่วงวัยต้น  60 -69  ปี ผู้สูงอายุช่วงวัยกลาง  70 -79 ปี และผู้สูงอายุช่วงวัยปลาย  80  ปีขึ้นไป  เพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับเท่าๆ กัน ซึ่งทำให้ทราบถึงปัญหาและแนวทางการออกแบบ จากนั้นนำข้อมูลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของผู้สูงอายุแต่ละด้านวิเคราะห์  ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม คุณณัฏฐ์ธเนศ ภัทรพิเศษพงศ์  ผู้จัดการศูนย์มายโฮมเนอร์สซิ่งแคร์ ประกอบด้วยความปลอดภัย ความแข็งแรงทนทาน ประโยชน์จากการใช้ผลิตภัณฑ์ ความสะดวกสบายในการใช้งาน ความสวยงาม การดูแลรักษา และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอิเลคทรอนิคส์ คุณสุรัช วิรุณศรี Design engineer  ประกอบด้วยความปลอดภัย ความเสถียรของสัญญาณ

สายรัดข้อมือเตือนภัย

จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งรูปลักษณ์ วัสดุ สี อุปกรณ์ที่ติดตั้ง เป็นต้น โดยการออกแบบใช้หลักของ Universal Design คือความหลากหลายของผู้ใช้งาน ทั้งทางกายภาพและสภาพแวดล้อมเพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน  ส่วนการขึ้นรูปชิ้นงานแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกตัวเรือนพลาสติก ออกแบบให้มีปุ่มที่หน้าปัดเรือนขนาดใหญ่เพื่อสะดวกในการใช้งานของผู้สูงอายุ มี 3 สี ดำ น้ำเงิน และเทา สายรัดใช้ผ้าไนลอน เพราะมีคุณสมบัติที่คงทน ทำความสะอาดง่าย การสวมใส่ใช้ตัวล็อคเหมือนนาฬิกาเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานง่าย ส่วนที่สองคือตัวส่งสัญญาณ ภายในตัวเรือนจะติดตั้งแผงวงจรขนาดเล็กใช้ถ่านนาฬิกาเป็นแบตเตอรี่ และส่วนที่สามแผงควบคุม ซึ่งจะติดตั้งไว้ภายในบริเวณบ้าน โดยแผงควบคุมจะเป็นตัวรับสัญญาณจากสายรัดข้อมือและจะส่งสัญญาณ SMS ไปยังโทรศัพท์ของผู้ดูแลที่ลงทะเบียนไว้ระบบสำหรับแจ้งฉุกเฉิน โดยแผงควบคุมสามารถบันทึกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ได้สูงสุด 4 เบอร์ หากเมื่อใดที่ผู้สูงอายุกดบนหน้าจอสายรัดข้อมือติดต่อกัน 2 ครั้ง  SMS ก็จะทำการส่งข้อความเตือนภัยไปยังผู้รับทำให้สามารถขอความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

นับได้ว่าอุปกรณ์สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ขอความช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังลดสถิติการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุลงได้ แต่อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ต้นแบบนี้ยังมีราคาสูง และแบตเตอรี่ที่มีอายุการใช้งานสั้นเพียง 2 สัปดาห์ หากได้รับการสนับสนุนการผลิตจากภาคอุตสาหกรรมจะทำให้ราคาถูกลงมากและทำให้ผู้สูงอายุทุกคนสามารถซื้อมาใช้งานได้มากขึ้น ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เจ้าของผลงานวิจัย  นายจักรกริช สาธิตศานนท์ 092-676-8616