การพัฒนาและการสร้างอัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้น่าสนใจ เป็นทางเลือกและรองรับความหลากหลายสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ของกลุ่มผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไป นับเป็นความท้าทายและการปรับตัวอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งในประเทศไทย โดยเฉพาะในแวดวงสิ่งทอ เช่นเดียวกับวิสาหกิจชุมชน "ผ้าทอมืออ่างศิลา บ้านปึก" สินค้าขึ้นชื่อของ จ.ชลบุรี เมื่อปี 2564 ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้เข้าไปช่วยกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ รวมถึงฟื้นฟูและศึกษาเพื่อดำเนินงานอนุรักษ์สืบสานผ้าทอมือพื้นเมืองให้ยั่งยืนสู่คนรุ่นหลัง โดยดำเนินการในเรื่องการพัฒนาเส้นใย เนื่องจากเดิมชาวบ้านต้องซื้อเส้นใยจากแหล่งผลิตอื่น อีกทั้งสินค้ายังขาดการออกแบบที่หลากหลาย และสร้างบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มอัตลักษณ์ให้สินค้ามีความชัดเจนยิ่งขึ้น จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดชลบุรีในปัจจุบัน

ผศ.ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า เนื่องด้วยเทคโนโลยีกระบวนการผลิตสิ่งทอในปัจจุบันได้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทั้งการสวมใส่ การตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงได้รวมตัวกับทีมวิจัยผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แต่ละด้าน ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.กรุงเทพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มทร.พระนคร ผู้ชำนาญการบริษัท อุตสาหกรรมไม้ฝีมือไทย จำกัด และผู้ชำนาญโครงการพระราชดำริ หุบกระพง จังหวัดเพชรบุรี เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมและเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เกิดมูลค่า รวมไปถึงกระบวนการด้านการตลาด เพื่อผลักดันให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับสมาชิกภายในกลุ่มที่ยังคงรวมตัวกันสานต่อองค์ความรู้การอนุรักษ์ผืนผ้าในวัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่สืบไป ภายใต้โครงการวิจัยสุนทรีภาพและความคิดสร้างสรรค์ด้านศิลปกรรม โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2566
ผศ.ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการจัดการความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือครั้งนี้มีชาวบ้านเข้าอบรมทั้งสิ้น 45 คน ประกอบด้วย 1.การถ่ายทอดเทคโนโลยีการตกแตกแต่งผืนผ้า ได้แก่ การตกแต่งสะท้อนน้ำ การตกแต่งยับยั้งแบคทีเรีย การตกแต่งด้วยกลิ่นหอมไมโครแคปซูล และการตกแต่งนุ่ม วิทยากรโดย ผศ.ว่าที่ พ.ต.ดร.สมชาย อุดร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.กรุงเทพ และอาจารย์ณัฐดนย์ รุ่งเรืองกิจไกร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2.การพัฒนาด้านการตลาด การคิดราคาต้นทุนสินค้าให้คุ้มค่ากับราคาขาย โดย ผศ.ดร.ณัฐชา ธำรงโชติ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มทร.พระนคร 3.การพัฒนาผลิตภัณฑ์กระเป๋า ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางกลุ่มผลิตเป็นหลักนำมาพัฒนาในรูปแบบใหม่ ๆ โดย ผศ.ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ และยังได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายผู้ผลิต คุณนพอนนต์ สินสอนวภัทร ผู้ชำนาญการตัดเย็บจากโครงการพระราชดำริ หุบกระพง จังหวัดเพชรบุรี มาแลกเปลี่ยนและอธิบายเทคนิคในการตัดเย็บแบบผสมผสานวัสดุอื่นที่นอกเหนือจากผ้า และคุณรุจิโรจน์ พงษ์สมบัติวรา จากบริษัท อุตสาหรรมไม้ฝีมือไทย จำกัด ร่วมพัฒนาสินค้าประเภทตกแต่งบ้านจากไม้ยางพารา และ 4.ออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ โดย ดร.มัธนี ปราโมทย์เมือง และ ดร.ธานี สุคนธะชาติ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ราชมงคลพระนคร โดยจัดทำต้นแบบกล่องบรรจุสินค้าจากกล่องกระดาษลูกฟูก ทั้งแบบชุด และแบบเดี่ยวรวม 6 ชิ้น
ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการอบรมทางกลุ่มชุมชน ผ่านเกณฑ์เรียนรู้การตกแต่งผืนผ้า พร้อมส่งผืนผ้าให้กับ เครือข่ายผู้ผลิตตัดเย็บเป็นสินค้าใหม่ต้นแบบอีกจำนวน 18 แบบ ได้แก่ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจากไม้ยางพาราประกอบด้วย ผ้าคาดโต๊ะ ที่รองจาน ที่รองแก้ว กล่องใส่ช้อนส้อม กล่องใส่ตะเกียบ กล่องทิชชู่ ถาดเสริฟแบบชุด ถาดเสริฟแบบมีขาตั้ง และป้ายเมนูอาหาร อีก 16 ชิ้นงาน นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ทำการสร้างเครือข่ายให้กลุ่มชุมชน ในการนำสินค้าที่ผลิตไปจำหน่ายให้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมไม้ฝีมือไทย ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา เพื่อเพิ่มรายได้ให้กลุ่มชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย “การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน ทั้งหน่วยงานสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในพื้นที่ ในการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการนำนวัตกรรมเข้าไปส่งเสริมคุณค่าองค์ความรู้เดิมควบคู่กับองค์ความรู้ใหม ถ้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนอยู่รอดภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ ก็เท่ากับว่าการสืบทอดวัฒนธรรมและความงดงามในชุมชน ก็จะไม่เลือนหายไปจากสังคมไทยเช่นกัน” ผศ.ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ กล่าว
พุทธชาติ/ข่าว